แบ่งปันวิธีคิดและกระบวนการในการพัฒนา iHearBand

มีคนถามหลายคนว่า iHear เป็นวงแบบไหนทำไมถึงมีงานเข้ามาได้ตลอดเวลา ผม (พัชร) จะอธิบายในแง่การพัฒนาในประเด็นของการตลาด การขาย และการบริหารวงในจุดที่ผมเองมีส่วนผลักดันเพื่อเป็นการต่อยอดและแบ่งปันความรู้กันครับ (ในส่วนของการเล่นดนตรีไว้โพสหน้านะครับ)

ihear-band
ท่าประจำคุณปลาทอง เป็น branding ได้นะครับ

กลยุทธ์ด้านการตลาด

Tie-in strategy

เมื่อปี 2007 – 2008 ตอนนี้เป็นช่วงที่ผมทำโรงเรียน iSchool และมีคอร์สสอนทำเพลง จึงเกิดความคิดอยากจะ Bundle marketing กับวง วีว่าวาวี เพื่อใช้โปรโมทโรงเรียนด้วย และเรามีความสัมพันธ์อันดีกับ Apple โดยตัวผมได้ไปเล่นเปิด iStudio หลายที่ และเป็นผู้ Demo โปรแกรมทำเพลงของ Apple เสมอ จึงบอกทุกคนว่านี่คือ iSchool Band และเริ่มทำ Marketing ด้วยการเขียน blog ที่ iSchool.in.th ครับ จากนั้นเมื่อ twitter เริ่มดังขึ้นมาและคุณ @iChattt ตั้งชื่อวงใหม่ว่า iHear เราก็ยัง Bundle กับ Apple Thailand อยู่ และผมเพิ่มการ Bundle การตลาดร่วมกับ Wawee ด้วยการโปรโมทร้าน Wawee ด้วย hashtag #Wawee จากนั้นจึงค่อยๆแทรก #iHear เข้าไปทีละน้อย ช่วงแรกต้องมีการขอร้องให้สมาชิกบางท่านที่ใช้ชื่อวงเก่า มาร่วมใช้ชื่อ iHear ด้วยกันด้วยเหมือนกัน 😛

แนวคิดนี้เป็นเพราะ หากเราโปรโมทตัวของเราตรงๆตั้งแต่แรก จะเกิดความตะขิดตะขวงใจต่อผู้รับสารพอสมควรครับ (คล้ายๆกับบอกว่าตัวเองดี มาดูเถอะ) และร้านกาแฟ มีภาพที่มองเห็นได้ชัดกว่าว่าจะมาทำอะไร และมีทางเลือกมากกว่าการมาดูดนตรี และเมื่อ twitter ในไทยดังขึ้น ร้านดังขึ้น วงเราก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงแคบๆของผู้ใช้ twitter

ลองดูบันทึกของ @hongsyok เมื่อปี 2009 บรรยายความรู้สึกต่อคนด้านนอกที่มองเข้ามาได้ดีทีเดียวครับ ปรากฏการณ์ IHEAR ที่วาวี อารีย์

แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามีผมคนเดียวที่เป็นผู้ tweet ข้อความออกไป ผมจึงออกนโยบายว่าสมาชิกทุกคนในวง ต้องเล่น twitter ครับ ใครเล่นไม่เป็นก็สมัครให้อีกด้วย สมาชิกทุกคนที่มาตอนนั้นรวมทั้งคนที่ถูกชักชวนให้มาแจมจึงเป็นผู้ช่วยในการโปรโมทวงโดยปริยาย อันนี้เป็นการเกาะกระแส twitter

Niche market strategy & google optimization strategy

วงเล่นได้ดี แล้วจะเป็นที่รู้จักได้อย่างไร? ณ เวลานั้น (2009) เราจะต้องเลือก 2 อย่างระหว่าง marketing Brand iHear ของวง และ marketing อรรถประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย และผมเลือกการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แทนที่จะเป็น Brand iHear เพราะในขณะนั้นสังเกตว่าวงดนตรีไม่ค่อยมี categories รองรับเวลา search ใน Google ครับ ส่วนวงดนตรีที่มี Brand นั้นมีเต็มไปหมด และมีการสร้าง Brand แบบ classic คือจ่ายตังค์ PR ไปธรรมดา หรือมีเพลงดังเปรี้ยงปร้าง และข้อได้เปรียบคือวงดนตรีวงอื่นในขณะนั้นไม่กล้าที่จะแบ่ง categories ของตนเองเพราะกลัวงานน้อยลง (อารมณ์เหมือนจำกัดแนวทางการเล่นของตนเอง)

ดังนั้นการเขียน Blog iPattt.com ที่มีคีย์เวิร์ด วงดนตรี งานแต่งงาน (ติดอันดับหนึ่งถึง 2.5 ปี) จึงอยู่ในแผนการดังกล่าว และมีการแลกลิงก์ทำความรู้จักกับเพื่อนๆให้มากเข้าไว้ด้วยการลิงก์ KeyWord นี้ และใช้เป็นศูนย์กลางด้วยการใส่เบอร์ของสมาชิกคนอื่นลงไปด้วยเช่นกัน หลังจากนั้น งานแต่งงานในกรุงเทพฯก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะในปี 2007 วงดนตรียังไม่เป็น Standard สำหรับงานแต่งงานตามโรงแรมหรูๆเหมือนสมัยนี้ครับ (เหมือนสมัยก่อน Presentation ก็ไม่เป็น standard เช่นกัน) วงจะได้รับความนิยมขึ้นมาได้ ขึ้นกับว่าเราหา”คุณค่า”ของวงที่มีต่องานแต่งงานได้หรือเปล่า กลุ่มคำทางการตลาดของวงดนตรีที่ภายหลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่ม Organizer หรือ วงวงดนตรีประจำโรงแรมก็เช่น “ไม่มีวงดนตรีแล้วบรรยากาศดู แห้ง เกินไป” หรือ “ช่วงพิธีการจะได้สมูท ถ้ามีเสียงดนตรีมาเชื่อมและทำให้ไม่มี Dead Air บนเวที” “บรรยากาศพิเศษเป็นที่จดจำของแขกถ้าบ่าวสาวมีกิจกรรมร่วมกับผู้ชม” ก็เป็นคำที่ใช้สร้างมูลค่าทางการตลาดที่คิดขึ้นมา และ(น่าจะ) มีส่วนในการพัฒนาวงการวงดนตรีในงานแต่งงานขึ้นได้มาก

Branding & Content Strategy Youtube Facebook

ต่อมาเมื่อคีย์เวิร์ด วงดนตรีงานแต่งงาน ขึ้นอันดับหนึ่ง และลูกค้าติดต่อมาไม่ขาดสายจาก Blog iPattt.com แล้วก้าวที่ต้องทำก็คือการผลิตคอนเท้นท์ที่มีคุณภาพต่อ Social Network ภายใต้ Brand iHear ในช่วงปลายปี 2010 ผมมองเห็นว่าวงดนตรีในขณะนั้น ยังไม่มีใครทำการอัดเสียงแบบแยกแทร็คในขณะเล่นสดกันเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เน้นการใช้ไมค์ตัวเดียวเก็บเสียงทั้งหมด จึงเห็นว่านี่น่าจะเป็น Differentiate ของคุณภาพเสียงในคลิปได้ดี จึงลองทำคลิปนี้ขึ้นมาและเผยแพร่ในเดือน มค. 2011 ครับ (จนมาถึงตอนนี้ การอัดแยกแทร็คกลายเป็น standard ไปแล้วเช่นกัน แต่ trend ต่อมาคือทำ MV)

คลิปของ iHearBand นั้น ไม่ได้มีคนดูเปรี้ยงปร้างระดับหลักล้าน หลายคลิปคนดูหลักแสน แต่ทุกคลิปตั้งใจทำด้วยต้นทุนเวลาพอสมควร แต่โอกาสที่คนดูจะ turn เป็นลูกค้านั้นเท่าที่สอบถามคือสูงมาก เพราะคุณภาพเสียงของเพลงที่เล่นข้างในและภาพความเรียบร้อยของวงดู practical ต่องานแต่งงาน ในขณะที่วงที่มีคลิปที่คนดูเยอะๆ( ไม่นับวงที่มี branding ในสังกัดค่ายเพลง ) บางทีไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าจะเล่นดนตรีในสถานการณ์จริงๆได้ดีแค่ไหนเช่นกัน

และเนื่องจากคลิปใน Channel iHearBand มีต้นทุนในการทำด้านเวลาค่อนข้างสูงเพราะอยากให้คลิปคุณภาพดี คุณนัทจึงตัดสินใจเก็บคลิปเพลงที่เล่นในงานแต่งแบบสดๆใน Channel YouTube ของคุณนัทเอง โดยการลงทุนอุปกรณ์และเวลาจนเกิดเป็นวินัยในตัวเอง ปัจจุบัน YouTube คุณนัทมีคลิปเกือบ 1,500 คลิปแล้ว ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือว่าวงมีการรับงานจริงอย่างสม่ำเสมอและงานเยอะมาก

ในส่วนของ facebook ทางวงมีการดูแลหลายคนโดยกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งวง แต่เนื่องจากสมาชิกวงเป็นแบบเปิดซึ่งจะอธิบายต่อไป ทำให้การโพสไม่ touch the heart เท่าที่ควร facebook จึงเป็นบันทึกกิจกรรมแสดงตัวตนความน่าเชื่อถือของเราแต่ยังมีบทบาทน้อยถ้าเทียบกับสื่ออื่นครับ

ส่วนของเว็บไซต์ เนื่องจากทำตลาดแบบ Branding แล้ว จึงย้ายจากการรับงานโดย Blog ของพัชรและ Plajazz มารวมศูนย์ที่เว็บ iHearBand.com และล่าสุดให้สมาชิกทุกคนร่วมกันบันทึกบล็อกด้วยกลไกแบบเดียวกับ Blognone ด้วยครับ

ihearband

งานราคาหลักแสนนี้ใช้คนกว่า 12 คน เล่นกันจนสลบเหมือดท้ายงาน แต่สนุกมากๆครับ

กลยุทธ์ด้านการขาย

วงเล็กแต่แน่น วงใหญ่ขยายได้ตามชอบใจ

เนื่องจากวงเป็นแบบสหกรณ์ทำให้สามารถเลือกรูปแบบได้หลากหลาย ทั้งนี้แม้วงที่เล็กที่สุดและราคาต่ำสุด 3 คน(ขายง่ายที่สุด) ยังมีจุดเด่นที่ความแน่นเพราะแต่ละคนทำหลายฟังก์ชั่น เช่น Minigroovy คุณพัชรจะเล่นเปียโน+เล่นเบสมือซ้าย คุณนัทร้อง+ตีกาฮอง คุณปลาทองเป่าทรัมเป็ต+เดินมอนิเตอร์เสียงรอบงาน(เพราะใช้ wireless mic)+ทำหน้าที่เรียกความสนใจคนดู

ส่วนวงใหญ่จะขยายเป็นวงขนาด 12 คน เล่นถึงตีหนึ่ง หร้อมแสงเสียงหลักแสน วงเราก็สามารถจัดการให้ได้ จึงตอบสนองความต้องการลูกค้าได้หลากหลายครับ


ชุดนี้พร้อมแสงเสียงระดับผับ ราคา 120,000 บาท

เมนูพร้อมราคาชัดเจน

หลักการขายที่ดีคือลูกค้าควรมีทางเลือกและมีเมนูให้ดู เพื่อให้เขาได้จินตนาการต่อถึงภาพงานของเขาได้ และการมีเมนูคือจะต้องมีราคาชัดเจน ซึ่งวงดนตรีโดยทั่วไปไม่ค่อยเผยแพร่ราคาออกเว็บไซต์กัน ทำให้ลูกค้าตัดสินใจยาก เข้าใจว่าการเผยแพร่ราคามาตรฐานอาจทำให้จำกัดขอบเขตของการรับงานและสมาชิกลูกวงอาจขอค่าตัวต่อหัวหน้าวงหรือคนรับงานของวงมากขึ้นถ้าเรียกราคาแพง หรือบางวงที่เผยแพร่ราคาก็เป็นวงที่มีราคาถูกมากซึ่งเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกันกับ iHearBand

ทักษะการคุยและอธิบายกับลูกค้า

ผู้ร่วมก่อตั้งอย่างคุณปลาทอง มีวิธีการคุยกับลูกค้าที่ชัดเจนและเห็นภาพ แยกรายละเอียดตัวเงิน สร้างความรู้สึก Professional ได้มาก หลายคนในวงสามารถอธิบายภาพการจัดวงดนตรีกับลูกค้าได้อย่างชัดเจน อธิบายเกี่ยวกับการใช้เครื่องเสียงของนักดนตรีและนักร้อง และเข้าใจงานแต่งงานและปัญหาของงานอย่างทะลุปรุโปร่ง email ของสมาชิกในการตอบลูกค้ามี template ที่ได้มาตรฐาน อ้างอิงได้ และสร้างความน่าเชื่อถือ

ส่วนผมเนื่องจากเคยเขียนโครงการมามากทำให้แจกแจงรายละเอียดของราคาได้ดี จะมีจุดเด่นในการคุยงานที่ต้องเรียกราคาสูงมากครับ

การตอบสนองทันที

ข้อนี้สำคัญมากสำหรับคนที่ซื้อสินค้า Luxury ทุกคนครับ การรอคอยเพียงชั่วโมงเดียวของผู้ที่กำลังหาข้อมูลต่างๆซึ่งเขากำลังกังวลอยู่นับว่าเป็นเวลาที่นานมาก หากเราตอบสนองเร็ว เขาก็จะตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นทางวงจะเน้นการตอบทันที ซึ่งโดยระบบการรับงานหลายคนจะกดดันให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้วเพราะถ้าเราไม่ตอบลูกค้าอย่างรวดเร็ว หรือไม่รับโทรศัพท์ ลูกค้าจะโทรหาเพื่อนเราในวงแทนทันที (ซึ่งจะทำให้เราเสียค่า manage งานนั้นไป) หรือไม่ก็โทรหาวงอื่นไปเลย

iHear-band-music
งานแต่งงาน มีครั้งเดียวในชีวิต สมาชิกวงต้องช่วยกันคิดช่วยกันแก้ถ้าเกิดปัญหาครับ

กลยุทธ์การบริหารวง

บุคคลและผลประโยชน์

เคยเขียนไว้ใน facebook ครับ คือ iHear band จริงๆไม่เชิงเป็นวงดนตรี แต่เป็นสหกรณ์นักดนตรีและนักร้อง ซึ่งรากฐานของทีมมีการ Contribute แบบ Open Source คล้ายๆวงการ IT คือทุกคนสามารถมาเข้าร่วมงานกับวงได้เลย (รวมถึงคนที่กำลังอ่านในขณะนี้ด้วย!) โดยนักดนตรีและนักร้องจะทำงานเพื่อผลักดัน Branding ของวงออกไปให้มากที่สุด และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ร่วมกันจาก Branding ของวงด้วยเช่นกัน

สำหรับการ Contribute กับวงสามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านฝีมือทางดนตรี การแสดงและการเอาลูกค้าให้อยู่, ทางด้าน marketing การแชร์อีเว้นท์และงานต่างๆที่รับผิดชอบอยู่ การทำคลิปต่างๆ การมี Blog ส่วนตัว (ในระยะแรกผมกำหนดให้ทุกคนต้องมี twitter เป็นอย่างน้อยเพราะเข้าสู่สังคมวงกว้างกว่า), ด้าน sale คือการหางานเข้าวงมาให้เพื่อนๆ ซึ่งใครที่ Contribute ได้ครบทุกส่วนก็มักจะมีงานเข้ามามากเช่น นัทมีฝีมือการแสดงที่ครบเครื่องเอาอยู่ และ marketing เก็บคลิปได้ดีมาก ส่วนปลาทอง มีฝีมือด้านการขายและการจัดการงานที่เยี่ยมยอดมาก

โมเดลนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อสามารถมีวงที่สามารถออกไปเล่นในนาม iHear ได้โดยไม่ต้องมีกลุ่ม Co-founder ออกไปด้วยได้ เช่น iHear ชุด Dream team ที่ผ่านมาก็สร้างชื่อให้การแสดงและการชื่นชมจากลูกค้า After Party ได้มาก และก้าวต่อไปคือแต่ละคนสร้าง personal branding มา Bundle กับวงครับ

การบริหารวงแบบนี้ทำให้วงแตกยากมากครับ เพราะปกติวงจะแตกจากการที่คนอยากรับผลประโยชน์เท่ากันแต่ Contribute ไม่เท่ากัน ในขณะที่ iHearBand ใครมีส่วนในการ Contribute มาก ก็จะได้ผลตอบแทนมาก และใคร Contribute น้อย ก็ได้น้อย และความเป็นสมาชิกของเขาก็จะเลือนลางออกไปเอง

เมื่อสองปีก่อน เคยมีผู้เสนอแนวทางพัฒนาวงโดยตัดคำว่า Open Source ออกไป แต่เมื่อผมได้พิจารณากับคุณนัทแล้วก็เห็นว่าสมาชิกวงที่มีหลากหลายแบบนี้ วิธีแบบสหกรณ์ ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ

การจัดการงานอื่น

เนื่องจากวงเล่นงานแต่งงาน ซึ่งเป็นงานที่มีค่าตัวค่อนข้างสูง และมีความรับผิดชอบที่แตกต่างไปจากการเล่น Back up ให้ศิลปิน คือเป็นงานที่ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการงานของบ่าวสาวให้ลุล่วงไม่หนีปัญหา สมาชิกของวงบางคนก็จะมีทักษะในการจัดการที่ดีและเป็นที่ไว้ใจก็จะเป็นผู้ควบคุมวงออกไปครับ ส่วนการสื่อสารวงจะใช้ Google Calendar ในการจดบันทึกข้อมูลต่างๆซึ่งทุกคนในวงเข้าถึงได้ และผู้ที่รับงานสามารถบันทึกและทุกคนเห็นได้ และมีการพัฒนาวิธีการจดมาเรื่อยๆจากบทเรียนต่างๆ

ipattt-ihear

พัชร เกิดศิริ มือคีย์บอร์ดผู้ร่วมก่อตั้ง iHearBand ความพิเศษตรงเล่นเบสไปพร้อมเสียงอื่นๆได้ทำให้เพลงแน่นโดยใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ติดต่อวงไอเฮียร์โทร 0868965900 พัชร